MOC Library
27 Mar 2024

เปิดร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่านชั้นกรรมาธิการ ก่อนสภาถกวาระ 2-3


ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ในวันนี้ (27 มี.ค.) หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายครบแล้ว 68 มาตรา




หลังจากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 1 ไปเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา สภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสิ้น 68 คน ทั้งจากพรรคการเมืองและภาคประชาชน โดยใช้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักในการพิจารณา




ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือในชื่อทางการว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ที่ถูกนำมาพิจารณาในรอบนี้ มีหลักการคือ การขยายสิทธิการสมรสหรือแต่งงานให้ครอบคลุมบุคคลทุกเพศ โดยแก้ไขกฎหมายแต่งงานเดิม ซึ่งก็คือประมวลกฎหมายแพ่งฯ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ที่อนุญาตให้แต่เฉพาะบุคคล "เพศชาย" กับ "เพศหญิง" จดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น เป็นการสมรสระหว่างบุคคลกับบุคคล




ทั้งนี้ เนื้อหาที่มีการปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ มีประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ อายุผู้ที่ทำการสมรส ซึ่งกรรมาธิการเห็นชอบให้ปรับเป็น 18 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 17 ปี โดยหนึ่งในกรรมาธิการ ระบุกับบีบีซีไทยว่า เพื่อให้เกณฑ์อายุสอดคล้องตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์และคุ้มครองสิทธิเด็กจากการถูกบังคับแต่งงานก่อนวัยอันควร




ขณะที่ยังมีความเห็นต่างในร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ การบัญญัติคำว่า "บุพการีลำดับแรก" ในกฎหมายให้มีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าบิดามารดา ซึ่ง น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง กรรมาธิการ จากสัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ได้ขอสงวนความเห็นเพิ่ม เพื่อนำมาอภิปรายหาข้อสรุปในที่ประชุมสภาในวาระที่ 2-3 ต่อไป




สรุปเนื้อหาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่านชั้นกรรมาธิการ




บีบีซีไทย เปิดเอกสารร่าง พ.ร.บ. และรายงานของ กมธ. ที่ผ่านการพิจารณา เปรียบเทียบความแตกต่างกับร่างคณะรัฐมนตรี




ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เปรียบเทียบร่าง ครม. และร่างที่ผ่านชั้นกรรมาธิการ. จำนวน 68 มาตรา.  .



ข้อเสนอจากภาคประชาชนบางส่วนที่ไม่ถูกบรรจุในร่างกฎหมาย




ในร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีประเด็นที่กรรมาธิการบางส่วน ขอสงวนความเห็นต่าง ซึ่งหมายถึงเป็นข้อเสนอทางกฎหมายที่ไม่ได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมกรรมาธิการ โดยส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอจากตัวแทนภาคประชาชน และกรรมาธิการสัดส่วนของพรรคก้าวไกล (ก.ก.)




น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง กรรมาธิการสัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้รับข้อเสนอของภาคประชาชนในประเด็นการบัญญัติคำที่มีความเป็นกลางในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา และบุตร ซึ่งกรรมาธิการภาคประชาชนได้เสนอคำว่า "บุพการีลำดับแรก" แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมกรรมาธิการ จึงขอสงวนความเห็นเพื่อไปอภิปรายในวาระที่ 2-3 ในสภา




Parliament01

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX





.

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX





น.ส.นัยนา อธิบายโดยยกตัวอย่างว่า บุตรของคู่สมรสที่พ่อแม่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ เมื่อเข้าโรงเรียนไปแล้ว จะเรียกครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้ว่าอย่างไรในทางกฎหมาย หรือ การมีบุตรโดยใช้สิทธิตามกฎหมายอุ้มบุญ เมื่อคู่แต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีบุตร แต่ผู้ที่คลอดบุตรอาจไม่ยินดีให้เรียกตัวเองตามอัตลักษณ์ของผู้หญิงเนื่องจากเป็นบุคคลข้ามเพศ แต่ทว่ากฎหมายจะเรียกผู้คลอดบุตรว่าเป็นแม่ ก็จะเป็นการละเมิดอีกขั้นหนึ่ง แต่ทั้งนี้ได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานที่ใช้กฎหมายในกรรมาธิการว่า กฎหมายอุ้มบุญยังไม่ครอบคลุมไปยังคู่สมรส LGBTQ เพราะยังมีคำว่าชายและหญิงในหลายจุด




"เวลามีลูกแล้วไปแจ้งเกิดจะเขียนในสูจิบัตรอย่างไร เมื่อต้องแจ้งเกิด" น.ส.นัยนา ยกตัวอย่าง พร้อมบอกว่า




"นี่เป็นความรุนแรงที่กฎหมายกระทำต่อบุคคล ในขณะที่กฎหมายต้องให้ความคุ้มครองเป็นหลักประกันของบุคคล ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่รัฐกลับออกกฎหมายที่ผลิตซ้ำความรุนแรงและทำให้คนรู้สึกถูกละเมิดต่อไป"




บีบีซีไทยตรวจสอบรายงานของกรรมาธิการ ที่บันทึกข้อเห็นต่างในหลายมาตรการที่กรรมาธิการจากภาคประชาชนเสนอให้เขียนคำว่า "บุพการีลำดับแรก" อันหมายถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม เข้าไปในร่างกฎหมายให้ชัดเจน แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบในชั้นกรรมาธิการ อาทิเช่น





  • บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา มารดา หรือบุพการีลำดับแรก

  • บุตรจำเป็นต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดา และบุพการีลำดับแรก

  • บิดา มารดา หรือบุพการีลำดับแรกจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตร

  • ให้บิดา มารดา หรือบุพการีลำดับแรก ตามประมวลกฎหมายนี้ เป็นบิดา มารดา หรือบุพการีลำดับแรกที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมาย พ.ร.บ. กฎกระทรวง กฎหมายอื่น ที่ให้สิทธิและหน้าที่แก่ "บุพการี" หรือ "บิดามารดา" หรือคำอื่นใดในลักษณะเดียวกัน


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.