Admin MOC
26 Nov 2020

7 กลยุทธ์ 'SAFER' เคลื่อนแผนควบคุมแอลกอฮอล์ฯ ระยะ 2

ทั่วโลกพบ มีการดื่มแอลกอฮอล์ถึง 2.3 ล้านคน เฉลี่ย 32.8 กรัมของแอลกอฮอล์บริสุทธ์ต่อวัน เสียชีวิตราว 3 ล้านคนต่อปี ขณะที่ไทย แม้ปัจจุบันจะมีอัตราการดื่มลดลง แต่แอลกอฮอล์ ยังคงส่งผลเสียโดยรวมทั้งสุขภาพ ชีวิต สังคม ครอบครัว และเศรษฐกิจ


วันนี้ (25 พฤศจิกายน) ที่ โรงแรมแมนดาริน ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ปีที่ 11 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวสู่ทศวรรษที่สองของนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย” ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลไกควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและความรุนแรงจากปัญหาสุราที่ส่งผลเสียต่อคนไทยทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยในทศวรรษที่สอง


ข้อมูลจาก “รศ.นพ.มล.ทยา กิติยากร” สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย (อาจารย์สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล) ระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตประมาณ 3 ล้านคนต่อปี จากสาเหตุอุบัติเหตุ/บาดเจ็บ 9 แสนคน , อุบัติเหตุรถชน 3.73 แสนคน ทำร้ายตัวเอง 1.46 คน ฆาตรกรรม 8.8 หมื่นคน หกล้ม/อุบัติเหตุ 7.7 หมื่นคน


โรคมะเร็ง 4 แสนคน มะเร็งลำไส้ 9 หมื่นคน มะเร็งตับ 8.4 หมื่นคน มะเร็งหลอดอาหาร 7.3 หมื่นคน มะเร็งอื่นๆ 1.53 แสนคน โรคทางเดินอาหาร 6.37 แสนคน ภาวะตับแข็ง 6.07 แสนคน โรคตับอ่อน 3 หมื่นคน โรคหัวใจและเส้นเลือด 5.93 คน โรคติดเชื้อ 4 แสนคน วัณโรค 2.54 แสนคน โรคปอดบวม 9.9 หมื่นคน เอชไอวี 3.3 หมื่นคน แอลกอฮอล์เป็นพิษ 1.45 แสนคน และ ลมชัก 1.7 หมื่นคน


160629734931



  • คนไทยดื่มแอลกอฮอล์แบบเสี่ยงเป็นประจำ 43.9%


กลับมาดูที่ประเทศไทย ผลสำรวจ สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2544 – 2560 พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มลดลงจาก 32.5% ในปี 2544 เป็น 30% ในปี 2550 และในปี 2560 ลดลงมาอยู่ที่ 28.4% หรือประมาณ 15.9 ล้านคน ขณะที่นักดื่มอายุ 15 – 24 ปี มีอยู่ราว 2.3 ล้านคน หรือ 24% ของกลุ่มเยาวชน ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยลักษณะการดื่มแบบเสี่ยงเป็นประจำ 43.9% ดื่มหนัก 41.9% ดื่มแล้วขับ 40.6%


ประเภทสุราที่นิยม ได้แก่ เบียร์ 45.1% สุราสี/สุราแดง 27% สุราขาว/สุรากลั่นชุมชน 23% ไวน์คูลเลอร์/สุราผสมน้ำผลไม้/เหล้าปั่น 1.9% ไวน์องุ่น/แชมเปญ/ไวน์ผลไม้ 1.2% ยาดองเหล้า/สุราจีน 1.2% และ สุราพื้นบ้าน 0.5%


สะท้อนให้เห็นว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีการดื่มลดลง สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการบริโภคแอลกอฮอล์ ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548 เป็น 142,230 ล้านบาท ในปี 2560  อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการดื่มสุราลดลง แต่การดื่มสุรากลับยังส่งผลกระทบกับสังคมไทยในหลายมิติทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพลำดับที่ 7 ของการตายและพิการ และยังทำให้เกิดโรคกว่า 270 ชนิด เช่น โรคตับแข็ง โรคมะเร็ง วัณโรค และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)


 



  • "สุรา" ด่านหน้าสู่ปัญหาอื่นๆ 


“ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แม้จะพบว่าอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่กลับพบว่าอัตราดังกล่าวในกลุ่มวัยรุ่นหรือเยาวชนลดลงในอัตราที่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนหญิงมีแนวโน้มการดื่มสุราเพิ่มขึ้น เนื่องจากสุราไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของผู้ดื่มหรือของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่มักกระทบต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ การดื่มสุราไม่เพียงก่อให้เกิดโรค และปัญหาสุขภาพมากมาย แต่ยังทำร้าย ผู้บริสุทธิ์ และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมหาศาล ซึ่งเป็นความสูญเสียที่มีผลต่อประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะดื่มหรือไม่ดื่ม


160629734952


“มีงานวิชาการที่ออกมายืนยันว่าหากเด็กเริ่มต้นดื่มเร็ว ปัญหาจะเยอะมากขึ้น เนื่องจากเด็กวัยรุ่นสมองพัฒนาการไม่เต็มที่ วุฒิภาวะ ความคิดอ่าน ยังพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ หากเริ่มต้นดื่มเหล้าตั้งแต่อายุน้อย จะพบปัญหา ติดเหล้า ส่งผลต่อพฤติกรรม วิถีชีวิตอื่นๆ ตามมา การเริ่มดื่มสุรา ถือเป็นประตูด่านหน้า ไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น บุหรี่ และ ยาเสพติด”


อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจการรับรู้ ความคิดเห็น และทัศนคติของประชาชนไทยต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 95 เห็นว่าสุราเป็นสิ่งให้โทษต่อสังคมไทย และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับทุกประเด็นเกี่ยวกับกฎระเบียบ มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าสิบปีหลังจาก พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้ พบว่า จุดจำหน่ายสุราลดลง การพบเห็นการโฆษณาสุราลดลง พื้นที่ปลอดสุรามีจำนวนเพิ่มขึ้น วันและระยะเวลาที่จำกัดการเข้าถึงสุราเพิ่มมากขึ้น


“แต่สถานการณ์ปัจจุบันเมื่อมีการเข้าถึงโฆษณาและการซื้อขายสุราทางออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นโจทย์ยากสำหรับทีมที่ทำงานด้านนี้ที่ต้องปรับเปลี่ยนมาตรการให้ทันกับสถานการณ์ ดังนั้นการมีกฎหมายที่สามารถควบคุมเรื่องเหล่านี้ได้ถือเป็นผลประโยชน์สาธารณะดังนั้น จึงควรป้องกัน และจำเป็นต้องทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ประชาสังคม วิชาการ และนโยบาย ในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป” ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าว   


 



  • ก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 ควบคุมแอลกอฮอล์ไทย


ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดการกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยนโยบายสำคัญในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 โดย สสส. ซึ่งทำหน้าที่สร้างเสริมสุขภาวะ การลดปัญหาจากสุราจึงเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ โดยมีการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา” ปี 2547 ในการพัฒนางานวิจัยเฉลี่ยปีละ 15 เรื่อง รวมถึงจัดประชุมวิชาการทุกปี นำมาซึ่งการผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยง่าย ลดปัญหาสังคมเศรษฐกิจ และให้ประชาชนตระหนักถึงภัยแอลกอฮอล์  


สู่ แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ซึ่ง ครม. เห็นชอบวันที่ 20 ก.ค.2553 (แผน 10 ปี : พ.ศ. 2554 - 2563) ในการควบคุมปริมาณการบริโภค ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และควบคุมความชุกของผู้บริโภค ลดความเสี่ยงของการบริโภค และจำกัดและลดความรุนแรงของปัญหา


ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุ แผนปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติในระยะที่ 2 พ.ศ. 2564 – 2570 ดำเนินการตามกรอบนโยบายองค์การอนามัยโลก เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากปัญหาผลกระทบการบริโภคแอลกอฮอล์ มีเป้าหมายการดำเนินการ 4 ประการ คือ 1. ควบคุมและลดปริมาณการบริโภคของประชาชน 2. ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และควบคุมจำนวนผู้บริโภค 3. ลดความเสี่ยงจากการบริโภค ทั้งในมิติของปริมาณการบริโภค รูปแบบการบริโภค และพฤติกรรมหลังการบริโภค และ 4. จำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค


ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 นี้ ดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ SAFER ทั้งหมด 7 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ 1 ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง (“S” = Strengthen restrictions on alcohol availability) , กลยุทธ์ 2 ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม (“A” = Advance & enforce drink driving counter measures) , กลยุทธ์ 3 คัดกรอง บำบัด รักษาผู้มีปัญหาจากสุรา (“F” = Facilitate access to screening brief intervention & treatment)


กลยุทธ์ 4 ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์ (“E” Enforce bans / comprehensive restrictions on alcohol advertising sponsorship & promotion) กลยุทธ์ 5 ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี (“R” = Raise prices on alcohol through excise taxes & price policy) กลยุทธ์ 6 สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่ม (Creating values to reduce alcohol consurnption & Networking) และ กลยุทธ์ 7 การบริหารจัดการที่ดี (Supporting & Good governance)  


160629734983


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ยังคงมุ่งเน้นการทำงานเพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้ความสำคัญกับการทำงานที่อาศัยความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของทุกภาคส่วน มุ่งนเน้นสร้างองค์ความรู้ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมและภาคนโยบาย รวมถึงต่อยอดการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบุญประเพณีปลอดเหล้า การร่วมใจงดเหล้าเข้าพรรษาต่อเนื่องทุกปี และสร้างความร่วมมือให้ทุกจังหวัดร่วมจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งร่วมกันของทุกภาคส่วน และช่วยป้องกันผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.