Admin MOC
21 Sep 2020

เปิดที่มา 'วันไหว้พระจันทร์' รู้จักขนมส่งสารและตำนาน 'ฉางเอ๋อ'

ชวนรู้จัก "วันไหว้พระจันทร์" อีกหนึ่งประเพณีสำคัญของชาวแดนมังกร ที่ตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 ของทุกปี ตามปฏิทินจันทรคติ และมีธรรมเนียมการมอบ "ขนมไหว้พระจันทร์" ให้ญาติพี่น้องกินด้วยกันเพื่อความสิริมงคล


ช่วงกันยายน - ตุลาคมของทุกปีเป็นช่วงที่หลายคนแฮปปี้เป็นพิเศษเพราะมี  "ขนมไหว้พระจันทร์"  อร่อยๆ จากหลายแบรนด์ทยอยทำขนมไหว้พระจันทร์ออกมาจำหน่ายในช่วงสั้นๆ เพียง 2-3 เดือนต่อปีเท่านั้น  ถือเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาล "ไหว้พระจันทร์" หรือ เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง ของพี่น้องชาวแดนมังกร 


สำหรับปีนี้ "วันไหว้พระจันทร์" ตรงกับวันที่ 1  ตุลาคม 2563  ก่อนจะถึงวันไหว้   กรุงเทพธุรกิจออนไลน์    อยากพาคุณไปรู้จักที่มาและประวัติศาสตร์ของเทศกาลนี้ให้มากขึ้น


 



  • ไหว้พระจันทร์ = การเซ่นสรวงการเกษตรประจำฤดูกาล


ความเป็นมาของเทศกาลไหว้พระจันทร์นั้น ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีจีนกล่าวว่า มีที่มาจากประเพณีไหว้พระจันทร์ และเป็นประเพณีเซ่นสรวงทางการเกษตรประจำฤดูสารทของจีนโบราณ  โดยเป็นประเพณีนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจาก "วันสารทจีน"  เนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวผลผลิตของปีนั้นๆ เสร็จสิ้น  และใช้ผลผลิตแรกที่ได้นั้นไปไหว้บรรพบุรุษในวันสารทจีนก่อน  


ถัดมาอีกเดือนหนึ่งก็จะเป็นการเซ่นไหว้และเทศกาลเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่ โดยเลือกเอา "คืนจงชิว"  กลางเดือนแปดให้เป็นคืนแห่งการเฉลิมฉลอง  เพราะเป็นคืนวันเพ็ญที่ดวงจันทร์แจ่มกระจ่างงามกว่าวันเพ็ญเดือนอื่นๆ และกลายมาเป็นประเพณีไหว้พระจันทร์ในที่สุด


160042066087



  • "วันไหว้พระจันทร์"  เกิดขึ้นช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง


วันไหว้พระจันทร์ของทุกปีจะตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจีน  ส่วนปฏิทินสากล "วันไหว้พระจันทร์"  ปีนี้ตรงกับวันที่  1  ตุลาคม  2563      เทศกาลไหว้พระจันทร์ (Mid Autumn Festival) รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งในภาษาจีนคือ "จงชิวเจี๋ย" หมายถึง เทศกาลช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วงที่พระจันทร์เปล่งแสงสวยงามที่สุด เป็นเทศกาลที่เกิดขึ้นจากประเพณีเก่าแก่ของชาวจีน  และถือเป็นเทศกาลใหญ่รองจากตรุษจีนสำหรับชาวจีนในทุกท้องถิ่น   ปัจจุบันเทศกาลนี้แพร่กระจายไปทั่วโลก



  • ตำนาน  "ฉางเอ๋อ"  สู่เหตุผลที่ชาวจีนไหว้พระจันทร์


เหตุผลที่ชาวจีนมีประเพณีไหว้พระจันทร์นั้น ก็เพราะเชื่อกันว่าเป็นการบูชาและรำลึกถึงคุณงามความดีของเทพี "ฉางเอ๋อ"  แล้วฉางเอ๋อเป็นใคร? มีตำนานเล่าต่อๆ กันมาว่า 


ในยุคหนึ่งของแผ่นดินจีน มีราชาโฮ่วอี้ปกครองบ้านเมือง พระองค์มีพระชายานามว่า "ฉางเอ๋อ"  ครั้งหนึ่งมีพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน 10 ดวง เดือดร้อนชาวโลกเป็นอันมาก ราชาโฮ่วอี้จึงขึ้นไปบนยอดเขาคุนหลุนแล้วใช้ธนูยิงอาทิตย์ดับไป 9 ดวง ทำให้ได้รับการแซ่ซ้องมีผู้คนมาขอเรียนวิชาธนูมากมายรวมถึง  "เฝิงเหมิง"  ผู้มีจิตใจชั่วร้ายด้วย


ต่อมาโฮ่วอี้ได้ยาอายุวัฒนะจากผู้วิเศษท่านหนึ่ง เฝิงเหมิงรู้เข้าจึงฉวยโอกาสที่โฮ่วอี้ไม่อยู่บุกเข้าวังไปชิงยาจากฉางเอ๋อ แต่นางไม่ยอมและกินยาอายุวัฒนะเสียเอง  ผลจากการกินยาวิเศษดังกล่าว ทำให้ร่างของนางล่องลอยไปถึงดวงจันทร์ กลายเป็นเทพีสถิตบนดวงจันทร์


 


160042064238


ภาพวาดพระนาง “ฉางเอ๋อ” เทพีแห่งดวงจันทร์ โดย Ren Shuai Ying (1955)


พอราชาโฮ่วอี้กลับมาและรู้ข่าวนี้เข้า ก็ลงมือกำจัดเฝิงเหมิงจนตายไป  แต่ก็ไม่สามารถนำฉางเอ๋อกลับมาจากดวงจันทร์ได้ จากนั้นพระองค์ก็ได้แต่เศร้าโศกคิดถึงพระชายา  "ฉางเอ๋อ"  เสมอมา โดยเฉพาะวันเพ็ญเดือนแปดที่ดวงจันทร์งามกระจ่าง ราชาโฮ่วอี้จึงจัดเครื่องเซ่นบูชาพระจันทร์รำลึกถึงฉางเอ๋อ


นอกจากสนี้ยังมีอีกหนึ่งตำนาน เล่าแตกต่างออกไปว่า  หลังจากราชาโฮ่วอี้ได้ยาอายุวัฒนะมาก็นำมาเก็บไว้ และย่ามใจว่าตนเองกำลังจะเป็นอมตะ  จากที่เคยเป็นกษัตริย์ที่ดีก็กลายเป็นคนชั่วร้าย เบียดเบียนข่มเหงประชาชน ฉางเอ๋อกลัวชาวบ้านจะเดือดร้อนหากโฮ่วอี้เป็นอมตะ   นางจึงชิงยาอายุวัฒนะมาจากพระราชาแล้วกินเสียเอง จากนั้นร่างของนางก็ลอยไปอยู่บนดวงจันทร์ ผู้คนจึงรำลึกถึงความดีงามของเธอด้วยการไหว้พระจันทร์กลางเดือนแปดสืบมา   


160042069720



  • ทำไมวันไหว้พระจันทร์ ต้องมี "ขนมไหว้พระจันทร์" ?


ในวันไหว้พระจันทร์ของทุกปี ชาวจีนจะนิยมทำ "ขนมไหว้พระจันทร์"  แค่เฉพาะช่วงนี้ของปีเท่านั้น เพื่อใช้ในการไหว้พระจันทร์  และหากมองในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมแล้ว  พูดได้ว่าขนมไหว้พระจันทร์เป็นขนมที่เชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อย่างดีอีกด้วย เพราะทุกบ้านต้องลุกมาทำขนมนี้ด้วยกันเป็นกาลเฉพาะ (คล้ายๆ งานบุญใหญ่ของชาวไทยที่แต่ละครอบครัวจะลุกขึ้นมาทำกับข้าวไปถวายพระที่วัด) 


เมื่อทำเสร็จก็จะนำไปแจกจ่ายให้พี่น้องในครอบครัว ญาติๆ และเพื่อนบ้าน แล้วมานั่งล้อมวงกินขนมไหว้พระจันทร์  ได้ออกมาพบปะ พูดคุย ในค่ำคืนวันเฉลิมฉลองและใช้เวลาแห่งความสุขด้วยกัน


160042069818



  • ตำนาน "ขนมไหว้พระจันทร์"  เป็นขนมส่งสารในการรบ!


ไม่ใช่เพียงความสำคัญในมิติทางสังคมของครอบครัวชาวจีนแล้ว "ขนมไหว้พระจันทร์"  ยังมีความสำคัญในมิติทางประวัติศาสตร์ของแผ่นดินแดนมังกรด้วย โดยมีตำนานเกี่ยวกับขนมไหว้พระจันทร์เล่าว่า 


ครั้งหนึ่ง  "แม่ทัพหลี่จิ้ง"   ชนะศึกกลับมาเฝ้ากษัตริย์  "พระเจ้าถังเกาจู่"   (ครองราชย์ พ.ศ. 1161-1169) ในท้องพระโรงยามราตรีคืนวันเพ็ญ พอดีมีพ่อค้าชาวธิเบตนำ  "ขนมเย่ว์ปิ่ง" (ขนมไหว้พระจันทร์)   ที่มีลวดลายสวยงามมาถวาย  เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรขนมนี้ก็ทรงโสมนัสอย่างยิ่ง และทรงดำรัสชี้ไปที่เดือนเพ็ญว่า ต้องชวนพระจันทร์ชิมขนมนี้ด้วย แล้วแบ่งขนมนั้นพระราชทานขุนนางทุกคน จึงเกิดประเพณีกินขนมพระจันทร์คืนเดือนแปดตั้งแต่นั้นมา


160042064511


นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งตำนานเล่าว่า   ในสมัยราชวงศ์หยวน  ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มองโกลเข้ามาสู้รบจนชนะและเข้ายึดครองแผ่นดินจีน  สร้างความเดือดร้อนและความเกลียดชังไปทั่ว  ต่อมามีชาวจีนผู้หนึ่งลุกขึ้นมาเป็นผู้นำต่อต้านมองโกล หวังรวบรวมกำลังชาวจีนขึ้นสู้ราชวงศ์ต่างเผ่า   จึงคิดอุบายเขียนข้อความนัดหมายใส่กระดาษซ่อนไหว้ใน  "ขนมไหว้พระจันทร์" แจกจ่ายไปในหมู่ชาวจีน เรียกว่าเป็น  "ขนมส่งสาร"  ในการรบก็คงไม่ผิดนัก


หลังจากชาวจีนกลุ่มผู้ต่อต้านมองโลกได้รับสารนั้นแล้ว  เมื่อถึงค่ำคืนวันเพ็ญกลางเดือนแปดหลังกินขนมไหว้พระจันทร์เสร็จ ทุกครอบครัวจึงคว้าอาวุธที่หาได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับชาวมองโกล  และสามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนได้สำเร็จ


--------------------


 


 


 


อ้างอิง  


บทความ “เทศกาลไหว้พระจันทร์ : ความกลมเกลียวของชาติ-ครอบครัว”. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ถาวร สิกขโกศล.


https://www.silpa-mag.com/


https://th.wikipedia.org/wiki/เทศกาลไหว้พระจันทร์

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.