MOC Library
10 Aug 2020

ทำความรู้จัก “ไวรัสเห็บ” โรคร้ายไวรัสตัวใหม่

ทำความรู้จักโรค "SFTS" โรคร้ายจากไวรัส(ตัวใหม่?)ในจีน


 


ปัจจุบันโลกกำลังวุ่นอยู่กับการหาวิธีรับมือการระบาดของ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19  แต่ปรากฏว่าในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาที่มณฑลเจียงซู และ อันฮุย ทางตะวันออกของประเทศจีน ได้มีการรายงานของโรคระบาดอีกชนิดหนึ่งที่มีผู้ป่วยติดไปมากกว่า 60 ราย และ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7 ราย โดยโรคดังกล่าวมีชื่อยาวๆว่า  Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome หรือ เรียกย่อๆว่า SFTS หรือ ไวรัสเห็บ


เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวโกลบอลไทม์ส ของจีนรายงานเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ว่า พบการระบาดของโรคที่เกิดจาก "ไวรัสเห็บ" Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome Bunyavirus- SFTSV ในมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของประเทศ โดยครึ่งแรกของปีนี้มีผู้ติดเชื้อ 37 คนเสียชีวิต 7 คนสร้างความตื่นตระหนกกับคนทั่วโลก


ล่าสุดเฟซบุ๊ก Virology and Cell Technology Lab – BIOTEC โรค SFTS เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูล Bunyavirus ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะ ชื่อของไวรัสแบบเป็นทางการยังไม่มี เลยใช้ว่า SFTS virus (SFTSV) ไปก่อน โดยไวรัสในตระกูลนี้มีสารพันธุกรรมเป็น RNA สายลบ สามเส้นเป็นวงขนาดแตกต่างกันไป เส้นยาวสุด (Large) ขนาดยาว 6,368 เบส ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์ที่ไวรัสใช้เพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม เส้นที่สอง (Medium) ยาว 3,378 เบส ทำหน้าที่สร้างโปรตีนบนเปลือกไวรัส ใช้เข้าสู่เซลล์ และ เส้นที่สาม (Small) ยาว 1,744 เบส สร้างโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด และ โปรตีนอื่นๆที่ช่วยให้ไวรัสเพิ่มปริมาณได้


ด้วยคุณสมบัติของสารพันธุกรรมที่แยกเป็นเส้นๆดังกล่าว ปรากฏการณ์ที่ไวรัสชนิดนี้จะแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกันในเซลล์เจ้าบ้าน ถ้าไวรัสมากกว่า 1 ชนิด ติดเข้าสู่เซลล์เดียวกันแล้วเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ (Reassortant) จึงเกิดขึ้นได้ คล้ายๆกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เกิดสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ไวรัสชนิดนี้จริงๆแล้วไม่ใช่ไวรัสใหม่ นักวิจัยจีนได้พบไวรัสชนิดนี้มามากกว่า 10 ปีแล้ว เพียงแต่ว่าไวรัสดังกล่าวไม่ได้ก่อเกิดโรคในคนมากเท่านี้มาก่อน มีเพียงผู้ป่วย 1-2 คนเท่านั้น การเกิดระบาดในคนมากกว่า 60 คน และ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10% จึงเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกสำหรับนักไวรัสหลายท่าน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับไวรัสชนิดนี้?


ผู้ป่วย SFTS จะมีไข้สูง อ่อนเพลีย  เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวจะลดลง  ผู้ป่วยที่อาการหนักจะพบการเลือดออกคล้ายไข้เลือดออก อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติ และ อาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ปัจจุบันไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ มียาต้านไวรัส ชื่อว่า Ribavirin ที่มีข้อมูลว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาได้ ...เนื่องจากไวรัสชนิดนี้เชื่อว่าแพร่สู่คนโดยเห็บเป็นพาหะสำคัญ หลักฐานการแพร่กระจายจากคนสู่คนที่มีอยู่ในปัจจุบันบ่งชี้ว่า อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เชื่อว่าคงจะไม่แพร่อย่างรวดเร็วเหมือน COVID-19 เพราะแพร่ทางการสัมผัสเลือดที่ติดเชื้อ ไม่ใช่ทางเดินหายใจ แต่ด้วยอัตราการตายที่สูงแบบไม่ปกติ คงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในจีนต่อไปว่าเคสจะสูงขึ้นไปมากกว่านี้หรือไม่


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.