Admin MOC
24 Jan 2020

เปิดโปรเจคแสนล้านบาท 'สมคิด' เร่งรัฐ-เอกชนลงทุนปีนี้

“สมคิด” นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดเร่งรัดการค้า-ลงทุนนัดแรก เผย “คลัง-บีโอไอ” พร้อมชงมาตรการกระตุ้นการลงทุน คาดหนุนเอกชนลงทุนปีนี้ 1 แสนล้านบาท รถไฟสายสีส้มตะวันตก ดันประมูลศูนย์ซ่อมอากาศยานใน 2 เดือน


คณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน เริ่มดำเนินงานทันทีหลังจากจากได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันแผนการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในช่วงปี 2563


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน ว่า ได้เร่งรัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในเรื่องที่จำเป็นและมีความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งรัดดำเนินการในปี 2563 


โดยประการแรกกระทรวงการคลังได้รายงานความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นการลงทุนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีที่จะให้สิทธิ์ประโยชน์กับภาคเอกชนที่มีการลงทุนในการนำเข้าเครื่องจักรการผลิตและสินค้าทุนโดยให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 2.5 เท่า


ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รายงานว่าในการใช้มาตรการเดิมที่หักค่าใช้จ่ายได้ 2.5 เท่าทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนได้ 1 แสนล้านบาท เมื่อมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการจูงใจที่มากขึ้นก็คาดว่าจะมีการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น 


สำหรับมาตรการนี้จะออกมาควบคู่กับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอเร็วๆนี้ โดยเน้นการลงทุนในประเทศ เช่น การมีแพคเกจส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่ลงทุนในชนบท เป็นต้นส่วนการใช้เงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันวเงิน 1 หมื่นล้านบาทให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มาร่วมจัดทำเกณฑ์ในการอนุมัติกองทุนให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถอนุมัติให้กับบริษัทเป้าหมายที่เข้ามาลงทุนได้ 


แผนเร่งรัดการเจรจาการค้าและการลงทุน


1.รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) วงเงิน 122,000 ล้านบาท โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เตรียมบรรจุวาระ


2.ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา วงเงิน 10,588 ล้านบาท โดยจะทำทีโออาร์ใหม่ภายใน 1-2 เดือน รวมทั้งผู้ยื่นซองประมูลไม่จำกัดเฉพาะแอร์บัส-การบินไทย


3.การลงทุนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็กปี 2563 วงเงิน 10,000 ล้านบาท


4.โรงไฟฟ้าชุมชน โดยกระทรวงพลังงานประเมินว่าจะมีมูลค่าการลงทุน 70,000 ล้านบาท โดยปี 2563 รับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์


5.การประมูล 5 G โดยมีกำหนดประมูลในวันที่ 16 ก.พ.2563 รวมทั้งสัปดาห์หน้านายสมคิด จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ เร่งรัดให้เกิดการลงทุนตามแผน


6.เมืองอัจฉริยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะทำทีโออาร์ภายใน 1-2 เดือน


7.การลงทุนรัฐวิสาหกิจ โดยเตรียมจัด CEO Forum เพื่อระดมความเห็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ หาแนวทางเร่งรัดลงทุนและจัดลำดับโครงการที่จะลงทุน โดยเฉพาะบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่มีงบลงทุน 2563 วงเงิน 69,310 ล้านบาท


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีงบลงทุนในปี  2563 วงเงิน 39,000 ล้านบาท และปี 2564 มีงบลงทุน 40,000 ล้านบาท





นายสมคิด กล่าวว่า ในส่วนของการเจรจาทางการค้าได้กำหนดการเจรจาการค้า 3 กรอบที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญในปีนี้ ได้แก่ การเจรจาการค้าในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดสรุปการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP และจะมีการตั้งกองทุนเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ 


ขณะเดียวกันจะเร่งรัดการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และเอฟทีเอไทย-ฮ่องกง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยต้องเร่งรัดในการเจรจาเพื่อสร้างโอกาสในการค้าของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น


คลังชงลงทุนหักภาษี2.5เท่า


นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการทางการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนใหม่ว่า จะเสนอให้นำรายจ่ายลงทุนในเครื่องจักรใหม่ไปหักลดหย่อนภาษีได้จำนวน 2.5 เท่า พร้อมกับ ยกเว้นอากรขาเข้า เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2563


เขาประเมินว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดการลงทุนใหม่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวมประมาณ 9 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า มาตรการที่จะออกมานี้ มีความคุ้มค่า เพราะจะจูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจในภาพรวม


“เดิมเราให้หักรายจ่ายเพื่อลงทุนได้ 1.5-2 เท่า ซึ่งก็จูงใจให้เกิดการลงทุนได้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เมื่อเราให้หักเพิ่มเป็น 2 เท่า ก็เชื่อว่า จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามาราว 1 แสนล้านบาท ก็คิดว่า คุ้มค่า”


นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางเงินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยแบงก์รัฐต่างๆได้ตั้งวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้รวมราว 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.) 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อที่ให้ในโครงการอีอีซี 2 หมื่นล้านบาท และ โครงการทั่วไป 5 พันล้านบาท ธนาคารออมสินออกสินเชื่อเสริมแกร่งวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอีก 2 หมื่นล้านบาท และ ธนาคารกรุงไทย 6 หมื่นล้านบาท


 



เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.