Admin MOC
23 Jun 2022

ขสมก. ชี้แจงอีกรอบ เร่งแก้คอย "รถเมล์" นาน

ขสมก. ชี้แจงอีกรอบ แก้ปัญหาผู้โดยสารคอย "รถเมล์" นาน ปรับแผนเดินรถหมุนเวียนเกลี่ยรถที่มีให้เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลา


นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีทั้งหมด 2,885 คัน ซึ่งมีอายุการใช้งานตั้งแต่ 5 - 25 ปี ขึ้นไป ส่งผลให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม แต่อย่างไรก็ตาม ขสมก. ได้จัดให้มีการซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการกับประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง


โดยที่ผ่านมาก่อนสถานการณ์  การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ขสมก. มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 800,000 - 900,000 คนต่อวัน ในการจัดให้มีบริการเดิน "รถเมล์" ประมาณ 19,000 เที่ยวต่อวัน จนกระทั่งในช่วงที่โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ระบาดมากขึ้นและมาตรการของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางขนส่งของประชาชน ขสมก. มีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 200,000 - 400,000 คนต่อวัน ในเที่ยววิ่งประมาณ 17,000 เที่ยวต่อวัน จนกระทั่งในปัจจุบัสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้คลี่คลายลงไปมาก


ประกอบกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล ส่งผลให้ ขสมก. มีผู้โดยสารประมาณ 700,000 คนต่อวัน ในเที่ยววิ่งประมาณ 19,000 เที่ยวต่อวัน (ผู้โดยสารน้อยกว่าก่อน COVID-19 ประมาณร้อยละ 16 และมากกว่าช่วงสถานการณ์ COVID-19 ประมาณร้อยละ 40)   


ทั้งนี้ จากกระแสโซเชียลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในประเด็นรถโดยสารประจำทาง ขาดระยะ และรอรถโดยสารประจำทางที่ใช้ระยะเวลานาน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ห่วงใยประชาชนและสั่งการให้ ขสมก. เร่งตรวจสอบและแก้ไขทันที โดยมิให้เกิดผลกระทบกับประชาชนโดย ขสมก. ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีหลายปัญหาที่เป็นสาเหตุของเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เช่น รถโดยสารไม่เพียงพอ พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารไม่พอเพียง หรือแผนการบริหารจัดการเดินรถไม่มีความเหมาะสมกับการปล่อยรถในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น


ซึ่งเป็นปัญหาที่อยู่ระหว่างการแก้ไขทั้งการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด การวิเคราะห์อัตรากำลังที่เหมาะสมกับจำนวนรถโดยสารประจำทางที่มีอยู่ รวมถึงการปรับปรุงแผนการเดินรถในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งการปรับปรุงแผนการเดินรถในแต่ละช่วงเวลานั้น ได้เริ่มดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว


อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงแผนการเดินรถจะต้องนำปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลง และทรัพยากรที่มีอยู่มาปรับร่วมกัน เพื่อให้มีความเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเริ่มจัดลำดับเส้นทางที่มีเรื่องร้องเรียนหรือที่สำรวจพบว่า เป็นเส้นทางวิกฤตเป็นอันดับต้นในการเริ่มดำเนินการ ซึ่งพบว่ามีประมาณ 27เส้นทาง ที่พบปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากเส้นทางทั้งหมด 107 เส้นทาง


โดยเริ่มจากการเกลี่ย "รถเมล์" ในช่วงที่มีผู้โดยสารน้อยในเส้นทางนั้น ๆ ในช่วงสาย - ช่วงบ่าย และนำรถเมล์ไปเพิ่มในช่วงเย็นและช่วงค่ำเพื่อให้การหมุนเวียนรถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมกับจำนวนผู้ใช้บริการ


ทั้งนี้ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในแต่ละช่วงเวลาต่าง ๆ และหากเส้นทางใดที่มีระยะทางยาวหรือใช้ระยะเวลานานในการหมุนเวียน "รถเมล์" เพื่อเข้าประจำการรองรับประชาชน จะต้องพิจารณาตัดเสริมหรือตัดช่วงเส้นทางให้รถเมล์สามารถหมุนเวียนกลับประจำการ เพื่อรับส่งประชาชนให้เร็วที่สุด ให้มีความต่อเนื่องในการให้บริการและลดปัญหาการขาดระยะของรถเมล์ได้


และปัจจุบัน ขสมก. ได้ปรับปรุงแผนการเดินรถในแต่ละช่วงเวลาแล้วเสร็จ ทั้ง 107 เส้นทาง และได้ทดสอบแผนการเดินรถด้วยการปล่อยรถตามความถี่และจำนวนตามแผนการเดินรถที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการให้บริการ และจะประเมินสถานการณ์ทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับปรุงแผนให้มีความยืดหยุ่นและมีความเหมาะสมต่อไป


ส่วนประเด็นการจัดซื้อรถโดยสารประจำทางใหม่นั้น ขสมก. เป็นหน่วยงานที่ประสบปัญหาการขาดทุน ซึ่งการจัดหารถใหม่ต้องใช้งบประมาณสูงในการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือการเช่ารถ ซึ่งอาจส่งผลต่อการบริหารจัดการในภาพรวมของ ขสมก. ได้ ดังนั้นแนวทางการจัดหารถใหม่ของ ขสมก. จึงต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่และรอบคอบมากที่สุดประกอบกับปัจจุบัน


ขสมก. อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนฟื้นฟูตามความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มของการขนส่งสาธารณะที่เกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพทั้งระบบล้อ ราง เรือ ให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย ตรงต่อเวลา และราคาสมเหตุผล ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมต่อไป

ทั้งนี้ ขสมก. ได้เพิ่มช่องทางการร้องเรียน ติชม และข้อเสนอแนะจากประชาชนผ่าน Facebook ขสมก. พร้อมบวก และ QR Code ที่ติดภายใน "รถเมล์" ทุกคัน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการให้บริการให้ดีที่สุดต่อไป

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.