Admin MOC
13 Jun 2022

"ค่า Ft" "ค่าไฟฟ้า" ปรับสูงขึ้น ใครเป็นคนกำหนด ?

ส่อง "โครงสร้างค่าไฟฟ้า" ของไทย หลัง "ค่าเอฟที" ปรับขึ้นเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จนผู้บริโภคแห่ติด #ค่าไฟแพง ทำไมต้อง "ขึ้นค่า Ft" และใครเป็นคนกำหนด



จากประเด็นดราม่าในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับตัวเลข "ค่าไฟฟ้า" และ "ค่า Ft" (ค่าเอฟที) ปรับสูงขึ้นในตัวเลขที่ค่อนข้างสูง จาก Ft เดิม 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จนเกิดแฮชแท็ก #ค่าไฟแพง


ซึ่งทำให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบต่างออกมาตั้งข้อสังเกตว่าค่า Ft ที่ปรับขึ้นสูงมาจากอะไร และพร้อมใจกันติดแฮชแท็กดังกล่าวในวงกว้าง


"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมคำตอบว่าแท้จริงแล้วค่าไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ว่าค่า Ft ขึ้นได้อย่างไร ค่าไฟฟ้ามีโครงสร้างแบบไหน และแท้จริงแล้วใครเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ปรับขึ้นหรือลดค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายกันแน่ ?



  •  โครงสร้างค่าไฟฟ้าไทย มีอะไรซ่อนอยู่ ? 


ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่าโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ



  • ค่าไฟฟ้าฐาน

  • ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ “ค่า Ft” 


1. ค่าไฟฟ้าฐาน


เป็นค่าไฟฟ้าที่สะท้อนรายจ่ายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตของประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศในช่วง 15 ปีข้างหน้า ที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ประกอบด้วยรายจ่ายของการไฟฟ้า 3 ส่วนหลัก ได้แก่


ส่วนที่หนึ่ง: ต้นทุนทางการเงินที่การไฟฟ้าใช้ในการก่อสร้างขยายระบบผลิต ระบบส่งและระบบจำหน่ายในอนาคต


ส่วนที่สอง: ต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและบำรุงรักษาระบบผลิต ระบบส่งและระบบจำหน่าย ค่าบริหารจัดการ ตลอดจนผลตอบแทนการลงทุน


ส่วนที่สาม: ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า




2. ค่าไฟฟ้าผันแปรหรือ “ค่าเอฟที” 


ส่วนที่สองคือ “ค่าเอฟที” ซึ่งคำว่า Ft เดิมหมายถึง ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง (Fuel) ที่แปรผันไปตามเวลา (Adjustment time) ณ ที่นี้ หมายถึง ค่าไฟฟ้าที่สะท้อนค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มหรือลดจากค่าใช้จ่ายพื้นฐาน


ขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าพลังงานและค่าบริการพิจารณากลั่นกรองความถูกต้องของการนำค่าใช้จ่ายส่วนที่เปลี่ยนแปลงนั้นมาคำนวณในสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติเพื่อหาค่าเอฟที


จากนั้นจึงนำเสนอ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ความเห็นชอบ แล้วประกาศรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นเวลาประมาณ 5 วัน จากนั้น กกพ. จึงประกาศค่าเอฟทีดังกล่าวเพื่อให้การไฟฟ้าใช้เรียกเก็บจากประชาชน 4 เดือนครั้ง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสะดวกในการคิดต้นทุนสินค้า





  •  ใครเป็นคนกำหนด ค่าไฟฟ้า ค่า Ft ? 


การพิจารณากำหนด "ค่า Ft" เป็นอำนาจของ กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตั้งแต่ปี 2551


โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าพลังงานและค่าบริการ เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองความถูกต้องของการคำนวณค่า Ft ให้เป็นไปตามสูตรการคำนวณที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ใช้ แล้วนำเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาประกาศอนุมัติค่าเอฟทีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกกลุ่ม


ในส่วนของการกำกับดูแล กกพ. จะตรวจสอบข้อมูลการลงทุนและการดำเนินงานที่มีผลต่อการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ โดย กกพ. จะพิจารณาครอบคลุมถึงประสิทธิภาพในการบริหารการใช้เชื้อเพลิง การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า และการประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น


รวมทั้งสมมติฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติทุก 4 เดือน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าด้วย



  •  ทำไมต้องขึ้นค่า Ft เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย 


ซึ่งล่าสุด "กกพ." ประกาศหลังการประชุม เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 65 มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย 


โดยให้เหตุผลหลักที่ต้องมีการพิจารณาปรับค่า Ft ครั้งนี้คือ 


1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 65 เพิ่มขึ้น เท่ากับประมาณ 68,731 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค. – เม.ย. 65) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้า เท่ากับ 65,325 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.21%


2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 65 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็น เชื้อเพลิงหลัก 55.11% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจาก ต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 19.46%


และ ลิกไนต์ของ กฟผ. 8.32% เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 8.08% พลังน้ำของ กฟผ. ร้อยละ 2.58 น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.01% น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.19% และอื่นๆ อีก 6.25%


3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่า Ft เดือน พ.ค. – ส.ค. 65 เปลี่ยนแปลงจากการ ประมาณการในเดือน ม.ค.– เม.ย. 65 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิต ไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณในรอบเดือน ม.ค.– เม.ย. 65


"ค่า Ft" "ค่าไฟฟ้า" ปรับสูงขึ้น ใครเป็นคนกำหนด ?


4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1 – 31 ม.ค. 65) เท่ากับ 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากประมาณการในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 65 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 33.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ



  •  ค่า Ft ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจริงหรือ !? 


ค่า Ft จะมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงได้ ขึ้นอยู่ที่ราคาและสัดส่วนการใช้พลังงานแต่ละช่วงว่ามีราคาแพงขึ้นหรือไม่


เนื่องจากสำหรับต้นทุนการผลิตไฟฟ้ากว่า 50% เกิดจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ดังนั้นสัดส่วนชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้า เพราะเชื้อเพลิงแต่ละชนิดมีราคาแตกต่างกันนั่นเอง


---------


อ้างอิง: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน


 


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.