Admin MOC
29 Nov 2021

ไฮสปีดจีน-ลาว”เปิดใช้ 2ธ.ค.64 เกมส์เคลื่อนกลยุทธ์โลจิติกส์ภูมิภาค

รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) จากคุนหมิง-เวียงจันทน์ สปป.ลาว จะเริ่มเปิดให้บริการ วันที่ 2 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นการนับหนึ่งทางประวัติศาสตร์โลจิติกส์ของภูมิภาค


     ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโอกาสเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างไทยและรถไฟลาว - จีน โดยระบุว่า โครงการรถไฟไทย - ลาว - จีน เป็นอีกหนึ่งโครงการในเส้นทาง One Belt One Road ซึ่งในส่วนของไทยได้มีความร่วมมือพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย – จีน เส้นทางเชื่อมโยงจากกรุงเทพฯ – นครราชสีมา - หนองคาย ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงนครราชสีมา - ขอนแก่นแล้ว และจากช่วงขอนแก่น - หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบพร้อมจัดทำวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)


ไฮสปีดจีน-ลาว”เปิดใช้ 2ธ.ค.64    เกมส์เคลื่อนกลยุทธ์โลจิติกส์ภูมิภาค


     “การเตรียมความพร้อมเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างรถไฟลาว - จีน ที่จะเปิดให้บริการวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ฝ่ายไทยได้มีการดำเนินงานในส่วนของระบบขนส่งทางถนนเตรียมพร้อมรองรับสินค้าเพื่อไปสู่จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าในจังหวัดหนองคาย”


     นอกจากนี้ภายในเดือน พ.ย.2564 จะมีการประชุมไตรภาคีเพื่อหารือแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย - ลาว – จีน และการพัฒนาสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร เป็นสะพานรถไฟที่มีทั้งทางขนาด 1 เมตร และ 1.435 เมตร


     “สะพานที่มีอยู่ใช้ข้ามระบบรถและรถไฟด้วย จะมีปัญหาเรื่องการบริหารสล็อต และโครงสร้างสะพานรับน้ำหนักได้ 20 ตันต่อตู้ขบวน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพโครงการนี้ ก็กำลังเจรจาจะสร้างสะพานเพิ่มเติมเพื่อรองรับรถไฟเพิ่ม แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะจีนอยากเป็นเจ้าภาพทั้งหมด เอาบริษัทก่อสร้างจีนเข้ามา และเขาจะลงทุน แต่ฝ่ายไทยและสปป.ลาวยืนยันจะใช้แนวทางปฏิบัติเดิม คือไทยสำรวจออกแบบและใช้งบคนละครึ่งกับสปป.ลาวในการพัฒนา”


     ส่วนกรณีรถไฟของลาวสร้างมาถึงชายแดนไทย หากจะให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ เชื่อมระบบรถไฟวิ่งต่อเนื่องเข้าหากันคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากรางรถไฟของทางลาวมีขนาด 1.435 เมตร แต่ของไทยมีขนาด 1 เมตร ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการหาแผนสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ทำการเปลี่ยนสับขบวน กระทรวงฯ ยืนยันว่าเรื่องของรถไฟไทยจีน ปัจจุบันกระทรวงฯ มีวิธีบริหารจัดการ ระบบเชื่อมกันไม่ได้อยู่แล้ว แต่มีหลากหลายวิธีในการบริหารจัดการให้การขนส่งไม่ติดขัด


     ทั้งนี้ ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องของจังหวัดหนองคาย ทดลองขบวนรถไฟขนส่งสินค้าความยาว 25 แคร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟ ช่วงหนองคาย-ท่านาแล้งเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าจากรถไฟลาว - จีน อีกทั้ง ยังวางแผนเดินรถขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวของการขนส่ง เพิ่มขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเป็นวันละ 16 ขบวน


     ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ระยะแรก จะให้บริการเฉพาะการขนส่งสินค้าเท่านั้น เน้นเฉพาะรูปแบบสินค้าเทกองของบริษัทจากจีนที่เข้าไปลงทุน ใน สปป.ลาว เช่น ยางพารา มันสำปะหลังแห้ง เกลืออุตสาหกรรม และสินแร่ เป็นต้น


     โดยขณะนี้ ยังมีกลุ่มสินค้าเกษตรที่ยังไม่สามารถนำเข้าไปยังจีนผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน 8 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็น ธัญพืช ผลไม้ สัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ต้นกล้า ไม้ซุง และสินค้าสัตว์และพืชที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากสินค้าดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบ ณ สถานที่ควบคุมตรวจสอบเฉพาะสำหรับสินค้านำเข้าบริเวณด่านรถไฟโม่ฮานของจีน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตรวจรับสถานที่จากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of China Customs-GACC)


     อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของลาว-จีน ประกาศให้มีการขนส่งสินค้าอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการไทยสนใจจะส่งออกสินค้าเกษตรด้วยรถไฟมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่ในระยะแรก อาจยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากต้องมีการกำหนดและหารือในรายละเอียดต่างๆ ร่วมกัน อาทิ การตรวจสอบ ณ สถานที่ควบคุมตรวจสอบเฉพาะสำหรับสินค้านำเข้าบริเวณด่านรถไฟโม่ฮานของจีนที่ยังไม่พร้อมให้บริการ


     สำหรับการใช้บริการขนส่งสินค้าเกษตรที่จะใช้เส้นทางรถไฟลาว – จีน ของผู้ประกอบการไทยนั้น จะเป็นการใช้เส้นทางจากด่านหนองคายข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ไปจนถึงสถานีขนส่งสินค้าเวียงจันทน์ใต้ เพื่อโหลดสินค้าขึ้นรถไฟสายลาว-จีนส่งไปยังปลายทางที่จีน ซึ่งการขนส่งด้วยรถไฟสามารถร่นระยะเวลาการขนส่งได้จาก 2 วันเหลือ 10-15 ชั่วโมง และลดการสูญเสียจากการขนส่งทางรถบรรทุกอย่างแน่นอน


 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.