Admin MOC
18 Oct 2021

เงินบาทดิจิทัลมาแล้ว



ในที่สุด “เงินบาทดิจิทัล” Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่พัฒนาโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อใช้เป็นเงินสดแทนธนบัตรในยุคดิจิทัล กำลังจะเป็นจริงขึ้นมาแล้ว วารสาร “การเงินธนาคาร” ฉบับเดือนตุลาคม ได้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาเงินบาทดิจิทัลว่า จะเริ่มทดลองใช้จริงในไตรมาส 2 ปี 2565 ทั้ง ระบบออนไลน์ และ ระบบออฟไลน์ สามารถเปลี่ยนเงินฝากเป็นเงินดิจิทัลได้ และเงินดิจิทัลเป็นเงินฝากได้ เหมือนกับ “เงินหยวนดิจิทัล” ของจีน 






ในอนาคต การถือเงินสดเพื่อใช้จ่าย จะมีความปลอดภัยและคล่องตัวมากขึ้น




คุณวชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ ให้สัมภาษณ์ “การเงินธนาคาร” ถึงการพัฒนาเงินบาทดิจิทัลว่า เริ่มต้นได้พัฒนาเงินบาทดิจิทัล สำหรับใช้ในสถาบันการเงิน เพื่อทำธุรกรรมการเงินระหว่างธนาคารแบบเรียลไทม์ เป็น Wholesale CBDC ด้วยเทคโนโลยี Blockchain และ Distributed Ledger Technology (DLT) ภายใต้ “โครงการอินทนนท์” และได้พัฒนาต่อเนื่องมาเป็น Retail CBDC หรือ “เงินบาทดิจิทัล” เพื่อใช้กับประชาชนทั่วไป




จากการทดลองเงินดิจิทัลพบว่า เทคโนโลยี DLT สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบได้จริงและสามารถใส่ฟังก์ชัน Programmability บางอย่างเข้าไปในเงินดิจิทัลได้




คุณวชิรา เล่าว่า เมื่อประสบความสำเร็จในการใช้เงินดิจิทัลระหว่างธนาคารแล้ว ธปท.ได้ขยายการทดลองไปทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยเชิญ 8 ธนาคารไทย เข้าร่วมพัฒนา และร่วมกับ ธนาคารกลางฮ่องกง ออกแบบการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารไทยกับธนาคารในฮ่องกง เพื่อลดขั้นตอนและลดต้นทุนในระบบเดิม ทำให้ธนาคารสองประเทศสามารถทำธุรกรรมกันได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางคือ ธนาคารตัวแทนระหว่างประเทศ (Correspondent Bank) เพื่อลดค่าใช้จ่าย เมื่อทดลองสำเร็จ ธนาคารกลางจีน และ ธนาคารกลางยูเออี ก็ได้เข้าร่วมโครงการด้วย ทำให้ต้องพัฒนาในระยะยาว เพราะมีเรื่องนโยบายกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของแต่ละประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง




ด้านความคืบหน้าการพัฒนา เงินบาทดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลในอนาคต คุณวชิรา เล่าว่า หากเงินบาทดิจิทัลได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนได้เป็นอย่างดี จะมีส่วนรักษาอธิปไตยทางการเงินของไทย และเพิ่มเสถียรภาพของระบบการเงิน ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายทางการเงินได้



ไปดูหน้าตาของ “เงินบาทดิจิทัล” ที่จะใช้ในต้นปีหน้ากันหน่อยครับ




1.มีรูปแบบคล้ายเงินสดและไม่จ่ายดอกเบี้ย ผู้ใช้สามารถถือเงินบาทดิจิทัลได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น สมาร์ทการ์ด ที่มีลักษณะคล้ายเงินสด ซึ่งประชาชนคุ้นเคยอยู่แล้ว เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม แม้จะไม่มีสมาร์ทโฟนหรือไม่มีบัญชีเงินฝากในธนาคารก็ตาม




2.ไม่สร้างภาระค่าธรรมเนียมผู้ใช้งาน เพื่อให้มีต้นทุนต่ำที่สุด และไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย จำกัดปริมาณการถือหรือไถ่ถอน เพื่อป้องกันการถอนเงินจำนวนมากอย่างรวดเร็ว จนอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและยอดเงินฝากของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ รวมทั้งป้องกันการฟอกเงินหรือทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย




3.ต้องผ่านตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน หรือ ผู้ให้บริการทางการเงิน ในการแลกเปลี่ยนเงินบาทดิจิทัล เพื่อรักษาบทบาทของตัวกลางทางการเงินในปัจจุบัน




เงินบาทดิจิทัล จะเริ่ม ทดลองใช้จริงในไตรมาส 2 ปี 2565 ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ออนไลน์ก็ใช้ผ่าน wallet บนสมาร์ทโฟน สามารถโอนเงินได้แม้ไม่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนก็ใช้เป็นสมาร์ทการ์ด ในอนาคต เงินบาทดิจิทัล ยังสามารถ ใส่โปรแกรมเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดคุณสมบัติอย่างอื่นๆ ได้อีกด้วย คล่องตัวกว่าธนบัตรเยอะ.




เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.