Admin MOC
18 Oct 2021

ราคาหมูปรับขึ้นทุกวันพระ เกษตรกรร้องจ๊าก ต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งลิ่ว

ราคาหมูเป็นทยอยขึ้นทุกวันพระ วันพระละ 4 บาท ผู้เลี้ยงรับภาระขาดทุนไม่ไหว ราคาอาหารสัตว์พุ่ง จนเลิกเลี้ยง จับตาเปิดประเทศ อาจเห็นหมูเป็นราคาพุ่งโลละ 100 บาท ผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็มึน อาหารสัตว์พุ่งเช่นกัน



     ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ผู้เลี้ยงสุกรได้ประกาศปรับขึ้นราคาสุกรมีชีวิต
(หน้าฟาร์ม) อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ โดยปรับขึ้นทุกวันพระ วันพระละ 4 บาท/กิโลกรัม (กก.) ส่งผลให้ราคาขายส่ง และขายปลีกขยับตาม ล่าสุด ตั้งแต่วันพระที่ 14 ต.ค.64 ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ภาคตะวันตก กก.ละ 72 บาท ส่วนราคาแนะนำเนื้อแดงขายส่ง กก.ละ 115 บาท ราคาขายปลีก กก.ละ 142-144 บาท, ภาคตะวันออก มีชีวิต กก.ละ 79-80 บาท ขายส่ง กก.ละ 126-128 บาท ขายปลีก กก.ละ 156-160 บาท, ภาคอีสาน มีชีวิต กก.ละ 74-76 บาท ขายส่ง กก.ละ 118-121 บาท ขายปลีก กก.ละ 148-152 บาท, ภาคเหนือ มีชีวิต กก.ละ 76 บาท ขายส่ง กก.ละ 121 บาท ขายปลีก กก.ละ 150-152 บาท และภาคใต้ มีชีวิต กก.ละ 78 บาท ขายส่ง กก.ละ 124 บาท และขายปลีก กก.ละ 154-156 บาท 




     ขณะที่วันพระที่ 6 ต.ค.64 สุกรมีชีวิตภาคตะวันตก กก.ละ 68 บาท ภาคตะวันออก กก.ละ 75-77 บาท ภาคอีสาน กก.ละ 72-74 บาท ภาคเหนือ กก.ละ 72 บาท และภาคใต้ กก.ละ 74 บาท ส่วนราคาเมื่อวันพระที่ 29 ก.ย. ภาคตะวันตก กก.ละ 64 บาท ภาคตะวันออก กก.ละ 75 บาท ภาคอีสาน กก.ละ 70 บาท ภาคเหนือ กก.ละ 70 บาท และภาคใต้ กก.ละ 71 บาท




     ทั้งนี้ เพราะผู้เลี้ยงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ขายผลผลิตได้น้อยมาก เพราะมีการระบาดของโควิด-19 มีการล็อกดาวน์และปิดประเทศ ที่ทำให้ความต้องการลดลงมาก รวมถึงยังมีปัญหาโรคระบาดในสุกร ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากการต้องป้องกันโรคระบาด และขณะนี้มีปัญหาราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นมากอีก เป็นผลจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยทยอยเลิกเลี้ยงไปจำนวนมาก และมีปริมาณสุกรเข้าสู่ตลาดลดลงแล้วกว่า 50% จากปกติมีสุกรมีชีวิตเข้าสู่ตลาดวันละ 50,000 ตัว แต่ขณะนี้เหลือเพียง 25,000 ตัวเท่านั้น




      สำหรับปัญหาดังกล่าว รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆออกมาช่วยเหลือ ทำให้ผู้เลี้ยงต้องทยอยปรับขึ้นราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มต่อเนื่อง และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาขาดแคลนสุกร และราคาแพงขึ้นแบบฉับพลัน โดยเฉพาะหากมีการเปิดประเทศและความต้องการบริโภคกลับมาใกล้เคียงเดิม ซึ่งอาจเห็นราคาสุกรมีชีวิตสูงถึงกก.ละ 90-100 บาทได้



     ขณะที่ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ต้นทุนการเลี้ยงปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละ 80.50 บาท แต่ราคาสุกรมีชีวิตช่วงที่ผ่านมาตกลงไปเหลือ กก.ละ 60 บาท ผู้เลี้ยงขาดทุน กก.ละ 20 บาท หรือขาดทุนตัวละ 2,000 บาท ทำให้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ต้องเลิกเลี้ยงไปเกินครึ่งหนึ่ง แม้ขณะนี้ราคาสุกรมีชีวิตจะขยับขึ้นมา กก.ละ 68 บาท แต่ยังขาดทุนอยู่ดี น่าจะทำให้เกษตรกรอีกมากเลิกเลี้ยง และจะเหลือเพียงผู้เลี้ยงรายใหญ่ทุนหนาเท่านั้นที่ได้ประโยชน์




     ด้านนายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นเช่นกัน เพราะราคาอาหารสัตว์ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ขยับขึ้นมาหลายรอบรวมแล้วกว่า 15-20% ซึ่งปกติราคาอาหารไก่ไข่ กก.ละ 12 บาท แต่ตอนนี้ราคาพุ่งขึ้นมาแล้ว กก.ละ 14 บาทกว่า โดยผู้ผลิตอาหารสัตว์แจ้งว่า ต้นทุนอาหารสัตว์แพงขึ้นมาก โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงเกิน กก.ละ 8 บาท เพราะจีนแย่งซื้อ จนส่งผลให้ราคาอาหารสัตว์ในประเทศแพงไปด้วย หากเป็นเช่นนี้ต่อไปผู้เลี้ยงไก่ไข่จะอยู่ไม่ได้ เพราะอาหารสัตว์ถือเป็นต้นทุนสำคัญ.



เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.