Admin MOC
21 Sep 2021

เทียบให้ชัด "ไฟเซอร์"- "ซิโนฟาร์ม" ฉีดวัคซีนในเด็กป้องกันโควิด

เปรียบเทียบฉีดวัคซีนในเด็กไทย "ไฟเซอร์" - "ซิโนฟาร์ม" เริ่มฉีดให้ใคร? ผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศเป็นเช่นใด การเตรียมพร้อม ผลข้างเคียงที่ควรเฝ้าระวัง


     20 ก.ย.2564 เป็นวันแรกที่ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ได้ดำเนินโครงการวิจัย“VACC 2 School” นำร่องฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ให้กับเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10–18 ปี จำนวน 2,000 คน จากโรงเรียนสตรีวิทยา ศูนย์การเรียนรู้รุ่งอรุณ และโรงเรียนสันติสุข โดยการฉีดวัคซีนดังกล่าว จะฉีดให้เฉพาะในโรงเรียนพื้นที่ กทม.และติดตามอาการผ่าน sms สอบถาม 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน รวมถึง ติดตามการติดเชื้อในครอบครัวและโรงเรียน


     ส่วนเด็กต่างจังหวัดยังไม่ได้ฉีด เนื่องจากอยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาขึ้นทะเบียนและหวัง อย.จะรับรองโดยเร็ว จะได้ฉีดให้เด็กนักเรียนในต่างจังหวัด จะได้ลดช่องว่างในพื้นที่


     ขณะที่วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการฉีดให้แก่เด็กกลุ่มเด็กและวัยรุ่นไปบ้างแล้ว โดยเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ฯลฯ และเตรียมฉีดให้เด็กอีก 5 ล้านคนทั้งประเทศนั้น จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งมีการนำเข้ามาในเดือนก.ย.นี้ และถือเป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวเดียวในบรรดาวัคซีนทั้งหมดที่รัฐบาลจัดซื้อจัดหา เพื่อมาฉีดให้ประชาชนสามารถฉีดให้แก่เด็กได้


     ฉะนั้น ปัจจุบัน วัคซีนที่ฉีดให้แก่เด็กไทยอายุตั้งแต่ 10-18 ปี จะมีเพียง 2 ชนิด คือ วัคซีน “ไฟเซอร์” ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA ส่วนวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” จะเป็นวัคซีนเชื้อตาย โดยผลของการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ให้แก่เด็กนั้น เบื้องต้น ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่ามีฉีดแล้วจะเป็นเช่นใด มีผลข้างเคียงจากวัคซีนทั้ง 2 ชนิดหรือไม่





  • กลุ่มเด็กที่จะได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์


สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการให้บริการวัคซีนในกลุ่มเด็ก 12-17 ปี จะดำเนินการในกลุ่มนักเรียนทั้งสังกัดภาครัฐและเอกชน กลุ่มอาชีวะศึกษา และโรงเรียนสังกัดอื่นๆ โดยเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เรียนชั้นมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เช่น ปวช. มีประมาณ 4.5 ล้านคน โดยจะฉีด “วัคซีนไฟเซอร์” ให้ครอบคลุมเพื่อเปิดภาคการศึกษา


ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความต้องการจากผู้ปกครองแล้วเสร็จใน 1-2 สัปดาห์ และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/สำนักอนามัย กทม. รวบรวมจำนวนนักเรียน ส่งให้กรมควบคุมโรคจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ คาดว่าจะเริ่มฉีดได้วันที่ 4 ต.ค.นี้



  • ต่างประเทศฉีดวัคซีน“ไฟเซอร์”


ข้อมูลจากบีบีซี ไทย รายงานว่าคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) มีมติแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี 200,000 คน ที่มีโรคประจำตัว เข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้เด็กในกลุ่มอายุเดียวกันที่มีสุขภาพดี โดยให้เหตุผลว่าในตอนนี้ ผลดีด้านสุขภาพที่จะได้จากการฉีดวัคซีนถือว่ายังน้อยเกินไป


ขณะที่ รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังรอการตัดสินใจจากคณะหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (chief medical officers) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาล คาดว่าจะได้ข้อสรุปอีกไม่กี่วัน


ก่อนหน้านี้รัฐบาลตัดสินใจให้วัคซีนคนกลุ่มอายุต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกันมาโดยตลอด แม้เด็กจะมีความเสี่ยงติดโควิด แต่โอกาสที่พวกเขาจะล้มป่วยหนักมีน้อยมาก นั่นหมายความว่าต้องเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนในการให้วัคซีนแก่พวกเขา





  • ผลข้างเคียงที่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง


ผลงานวิจัยในต่างประเทศ ในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบว่า มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่คนจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งพบบ่อยกว่าในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชายหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการก็มักจะหายไปเองในไม่กี่วัน ดังนั้น ไม่มีวัคซีนหรือยาตัวไหนที่ปลอดภัย 100%


      สถิติจากสหรัฐฯ พบว่าจำนวนเด็กที่เจอผลข้างเคียงน้อยมาก ในจำนวนเด็กอายุ 12-17 ปี 1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จะมีราว 60 คนด้วยกันที่เจออาการข้างเคียงนี้ (8 คนในจำนวน 1 ล้านคนสำหรับเด็กผู้หญิง) อัตราเกิดอาการนี้สูงกว่าในหมู่เด็กอายุน้อยกว่า นั่นเป็นสาเหตุที่ตอนนี้ทางการแนะนำให้เด็กอายุ 16-17 ปี เข้ารับวัคซีนได้


รายงานอุบัติการณ์ของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบประมาณ 16 รายใน 1 ล้านโดสของการฉีด พบในเพศชาย เป็นส่วนใหญ่ อาการพบได้ภายใน 30 วัน หลังได้รับวัคซีนแต่ส่วนใหญ่พบใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐ)


นอกจากนี้ยังพบ ในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก ซึ่งพบในเพศชาย (12-17 ปี) มีอัตราการเกิดสูงสุด ในผู้ชายมีอัตราการเกิด 32.4 ต่อ 1 ล้านโดส ผู้หญิง 4.2 ต่อ 1 ล้านโดส กลุ่มรองลงมาที่พบ คือ อายุ 18-24 ปี และจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ไม่มีรายงานในผู้สูงอายุ


ทั้งนี้ อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดที่คณะผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยเข้าข่ายอาการรุนแรง คือ “กลุ่มเนื้อหัวใจอักเสบ” ซึ่งในประเทศไทย พบแล้ว 1 ราย โดยเด็กชายอายุ 13 ปี มีภาวะโรคอ้วน แต่สามารถเข้ารับการรักษาได้ทัน ปัจจุบัน หายเป็นปกติแล้ว



  •  “ซิโนฟาร์ม”ฉีดให้โรงเรียน89แห่งกทม.


ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงโครงการ “VACC 2 School” นำร่องฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ให้กับเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10 – 18 ปี ที่อาคาร 9 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นจุดบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่า โครงการวิจัยในการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับเด็กอายุระหว่าง 10-18 ปีนี้ มีการศึกษาในต่างประเทศแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มี ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้ทำโครงการวิจัย ซึ่งผ่านคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เองแล้ว


“จะเริ่มฉีดให้กับนักเรียนและโรงเรียนที่มีการลงทะเบียนเข้ามา เบื้องต้นดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยนำร่องฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งสิ้น 89 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 57,840 ราย ส่วนเด็กต่างจังหวัดนั้นอยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พิจารณาทะเบียนเพิ่มเติมท ซึ่งหวังว่าอย.จะรับรองโดยเร็ว” ศ.นพ.นิธิ กล่าว



  • ผลข้างเคียง “ซิโนฟาร์ม” ในเด็ก


สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนฟาร์มในเด็ก ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ทราบกันอยู่แล้วว่า วัคซีนชนิดเชื้อตาย มีการใช้กันมานานในวัคซีนชนิดอื่นๆในเด็ก ทั้งไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบ พิษสุนัขบ้า เป็นต้น ซึ่งความปลอดภัยสูงมาก อาการข้างเคียงก็ต่ำ เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ความรุนแรงต่ำกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม


สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์มที่จะนำมาใช้ในเด็กมีการศึกษาในต่างประเทศ พบว่ามีความปลอดภัย ไม่พบอาการข้างเคียงในเด็กมากนัก เบื้องต้นมี ชิลี ศรีลังกา จีน และยูเออี พบอาการข้างเคียง 0.2 %


ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 1 กับ 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ส่วนการพิจารณากระตุ้นเข็ม 3 ในเด็กขึ้นอยู่กับการระบาดจากนี้ในอีก 4-6 เดือนข้างหน้า ส่วนการนับวัคซีนในโครงการของราชวิทยาลัย คาดว่าจะมีเด็กรับวัคซีนรวม 108,000 คน โดยส่วนใหญ่ของการรับวัคซีนนี้ทีทั้งเด็กมัธยมต้น และมัธยมปลาย ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้เด็กนักเรียนได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติในโรงเรียน


อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยซิโนฟาร์มในเด็กนั้น โรงเรียนแพทย์อื่นๆ สามารถศึกษาวิจัยได้ แต่ต้องมีการขอคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์เหมือนของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และประสานเรื่องวัคซีนเข้ามา ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์ม ก่อนหน้านั้นได้ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. สำหรับการฉีดในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป




 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.