MOC Library
07 Jul 2021

อัปเกรดเลี้ยงปลาหนาแน่น คุ้มค่า เสี่ยงต่ำ กำไร 30 เท่า



ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดงานวิจัยเทคโนโลยีต้นแบบ “ระบบอัตโนมัติสำหรับเพาะเลี้ยงปลากะพงในระบบน้ำไหลเวียน” ซึ่งพัฒนาจากระบบการเลี้ยงแบบน้ำไหลเวียน (Recirculation Aquaculture System : RAS)







เป็นเทคโนโลยีเพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืนที่กำลังได้รับความนิยมจากฝั่งตะวันตก พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติน้อย ให้ผลผลิตสูง ความเสี่ยงต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นรูปแบบการทำประมงที่ถูกกฎหมาย




 







“แม้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยรู้จักเทคโนโลยี RAS มาระยะหนึ่งแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความนิยมนัก เพราะแม้จะมีข้อดีกว่าเลี้ยงแบบบ่อดินและกระชังหลายอย่าง แต่การเปลี่ยนมาเลี้ยงระบบนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีสูง ส่วนหนึ่งมองว่าการลงทุนค่อนข้างแพง เพราะบางอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ








 

 







เอ็มเทคจึงได้ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยีนี้ ให้เหมาะสมกับคนไทย ที่เข้าถึงง่าย ราคาจับต้องได้ และมีระบบการใช้งานที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกลุ่มบริหารการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (RDI) สวทช.”


ดร.ยศกร ประทุมวัลย์ ทีมวิจัยคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณเชิงวิศวกรรม (CAEF) เอ็มเทค สวทช. อธิบายถึงความร่วมมือกับบริษัท ท็อป อะควา เอเชีย เทรดดิ้ง แอนด์ คอนซัลแทนท์ จำกัด พัฒนาระบบการเลี้ยงปลาแบบน้ำไหลเวียน หรือ RAS...โมเดลที่พัฒนาขึ้นมีจุดเด่นของเทคโนโลยีอยู่ 3 ส่วนหลัก



ส่วนแรก คือ “ซอฟต์แวร์ราสแคล (RAScal)” ใช้คำนวณการออกแบบระบบการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพ สามารถติดตามและประเมินระหว่างการเลี้ยงได้


ส่วนที่สอง การพัฒนา “ระบบตรวจวัดและควบคุมอัตโนมัติ” เพื่อควบคุมคุณภาพการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน น้ำในบ่อเลี้ยงสะอาด ปลอดโรค ที่สำคัญลดการใช้น้ำเหลือเพียง 6% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการเลี้ยงในบ่อดินหรือแบบกระชัง ที่ปริมาณผลผลิตเท่ากัน นอกจากนั้นยังลดการปลดปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมจนเกือบเป็นศูนย์ โดยผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบการเลี้ยง สั่งการทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ใช้งานง่ายไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี


ส่วนสุดท้าย “การออกแบบอุปกรณ์ให้สามารถผลิตได้ในประเทศ” เพื่อให้มีราคาที่เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้








 

 







โดยเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถใช้ได้กับทั้งการเลี้ยงปลาน้ำจืด น้ำเค็ม รวมไปถึงกุ้ง


ดร.ยศกร อธิบายการทำงานของระบบ...บ่อเลี้ยงเป็นทรงกลม มีการปล่อยน้ำเข้าสู่บ่อด้วยการฉีดตามแนวรอบ ทำให้น้ำเกิดน้ำวนเข้าสู่ศูนย์กลาง (สะดือกลาง) จากบนลงล่างก่อนไหลออกจากบ่อ ความเร็วของน้ำสามารถปรับได้ตามพฤติกรรมการว่ายน้ำของสัตว์น้ำ การให้อาหารสามารถตั้งเวลาการให้ได้ทั้งเป็นช่วงเวลา หรือค่อยๆให้ตลอดเวลา ขณะที่ของเสียที่เกิดขึ้นจะไหลออกทางสะดือกลางของน้ำวนเข้าสู่กระบวนการบำบัด



โดยของแข็งหรือมูลสัตว์น้ำจะถูกกรองออกจากน้ำไปก่อน โดยระบบตัวกรองเชิงกล เพื่อแยกออกไปทำปุ๋ย ต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนโปรตีนสกิมเมอร์ กำจัด “สารอินทรีย์ที่ละลายน้ำ” ออกโดยใช้ฟองก๊าซโอโซนดักจับ เป็นการฆ่าเชื้อโรคในน้ำไปในตัว ขั้นตอนต่อไปคือการเปลี่ยน “แอมโมเนีย” ที่สัตว์ขับถ่ายออกมาให้เป็นไนไตรต์และ ไนเตรต ด้วยกระบวนการไนตริฟิเคชัน โดยใช้แบคทีเรียในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ


ขั้นสุดท้ายของการบำบัด...การสเปรย์น้ำเพื่อเพิ่มพื้นผิวสัมผัส ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลุดออกจากน้ำ เมื่อน้ำได้รับการบำบัดจนสะอาดจึงเติม “ออกซิเจนบริสุทธิ์” ด้วยระบบเติมก๊าซแรงดันสูง เพื่อให้มีปริมาณออกซิเจนในน้ำที่เหมาะสม ก่อนปล่อยน้ำวนกลับเข้าสู่บ่อเลี้ยงต่อไป










 


 

 







การตั้งค่าทั้งหมดนี้สามารถออกแบบและปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรม ขนาด และอายุของสัตว์น้ำที่เลี้ยง ทำให้สัตว์น้ำโตไวและสุขภาพดี


การเลี้ยงด้วยระบบนี้หากนำมาใช้เป็นโมเดลเลี้ยงปลากะพงที่ความหนาแน่น 40 กิโลกรัม/ ลูกบาศก์เมตร ใช้บ่อเลี้ยง 6 บ่อ พื้นที่รวมประมาณ 120 ตารางเมตร จะได้ผลผลิตปลากะพงเดือนละ 340 กก. ใช้เงินลงทุนประมาณ 700,000 บาท ระยะคืนทุน 3.43 ปี ทำกำไรราว 30% ทั้งนี้ ปริมาณความหนาแน่นที่รองรับได้ขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์น้ำ เช่น หากเลี้ยงปลานิลที่มีอัตราการว่ายน้ำน้อยกว่า จะสามารถเลี้ยงได้หนาแน่น 60-80 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร



แม้จะมีการลงทุนสูงกว่าการเลี้ยงแบบบ่อดินหรือกระชัง แต่ปริมาณผลผลิตมากกว่าถึง 30 เท่า (กรณีเลี้ยงปลากะพง) แถมไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ โรคที่เกิดจากระบบการเลี้ยงที่ไม่สะอาด หรือเชื้อโรคจากภายนอก


สนใจดูของจริงได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา และสถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.ชลบุรี ซึ่งกำลังพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปีนี้.



เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.